WHY^3 โอ้ย! สงสัยจัง: ทำไมพระสงฆ์ถึงฉันอาหารมื้อเดียว

                 ธรรมดาคนเราต้องรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ คนที่รักษารูปร่างก็อาจจะรับประทานเพียง 2 มื้อ บางคนกินมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเป็นมื้อเดียวกัน จึงมีคำศัพท์ใหม่บัญญัติมาอย่างคำว่า "Brunch" อย่างไรก็ดีเราคงเคยสงสัยกันว่าพระสงฆ์ฉันเพลอย่างเดียว( *เพล = เวลาพระฉันกลางวัน คือ เวลาระหว่าง ๑๑ นาฬิกาถึงเที่ยง) เเล้วหลังจากนั้นท่านก็ไม่รับประทานอาหารเเล้วหรือ ซึ่งเราจะมาหาคำตอบของข้อสงสัยนี้กัน

จากพระสุตตันตปิฎก >มัชฌิมนิกาย> มูลปัณณาสก์ >โอปัมมวรรค> กกจูปมสูตร ได้กล่าวถึงการฉันอาหารมื้อเดียวไว้ว่า

ประโยชน์ของการฉันอาหารมื้อเดียว [๒๒๕]

              ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากได้ทำให้เรามีจิตยินดี เราได้เตือนภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นี้ว่า  ‘เราฉันอาหารมื้อเดียว๑- เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก มาเถิด แม้พวกเธอก็จงฉันอาหารมื้อเดียว แม้เธอทั้งหลายเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว จักรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และ อยู่อย่างผาสุก’เราไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นใน ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น รถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ซึ่งฝึกมาดีแล้ว แล่นไปตาม ทางใหญ่สี่แพร่ง บนพื้นราบเรียบโดยไม่ต้องใช้แส้ เพียงแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดม้าที่ ฉลาดขึ้นรถแล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วยมือขวา เตือนม้าให้วิ่งตรงไป หรือเลี้ยวกลับไปตามถนนที่ต้องการได้ตามความปรารถนา แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น เหมือนกัน ไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นในภิกษุ เหล่านั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงละอกุศลธรรม จงทำความ พากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เธอทั้งหลายก็จักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ป่าสาละอันกว้าง ใกล้บ้านหรือนิคม ป่านั้นรกไปด้วยต้นละหุ่ง บุรุษบางคนหวังดี หวังประโยชน์ และหวังความเจริญเติบโตของต้นสาละนั้น เขา จึงตัดหน่อต้นสาละที่คด ซึ่งคอยแย่งอาหารแล้วนำออกไปทิ้งที่ภายนอก แผ้วถาง ภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อย คอยบำรุงรักษาต้นสาละเล็กๆ ซึ่งตรง แข็งแรงดี ไว้อย่างดี ด้วยการกระทำดังกล่าวมานี้ ต่อมา ป่าไม้สาละนั้นก็เจริญ งอกงาม ไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ แม้ฉันใด แม้เธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงละอกุศลธรรม จงทำความพากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอทั้งหลายก็จักถึง ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ 

                   สรุปได้ว่าอานิสงค์การฉันอาหารมื้อเดียว คือ อาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก 

เชิงอรรถ
1 ฉันอาหารมื้อเดียว หมายถึง การฉันอาหารในเวลาเช้า คือตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาเที่ยงวัน แม้ภิกษุฉันอาหาร ๑๐ ครั้ง ในช่วงเวลานี้ก็ประสงค์ว่า ฉันอาหารมื้อเดียว (ม.มู.อ. ๒/๒๒๕/๓) 
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๒๓๖}

2 พระสุตตันตปิฎก หรือพระสูตร เป็นส่วนที่รวบรวมพระธรรมคำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้ารวมถึงพระสาวกสำคัญๆเอาไว้ในลักษณะของการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร มี 21,000 พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร มี 5 คัมภีร์ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย เเละขุททกนิกาย
3 มัชฌิมนิกาย เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาความยาวปานกลาง เช่น ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ ทีฆนขสูตรที่พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น
4 มูลปัณณาสก์ 
5 โอปัมมวรรค หมวดว่าด้วยอุปมา
6 กกจูปมสูตร บทเปรียบด้วยเลื่อย โดยรวมกล่าวถึงการสำรวมจิตใจไม่ปล่อยให้อารมณ์คล้อยไปตามคำพูดของผู้อื่น การอดทนต่อคำพูด การเเสดงโทษของการไม่อดทนเเละการพูด 5 ประการ 
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://tripitaka-online.blogspot.com/2016/07/tpd12-06.html?m=1

                เเละจากพจนานุกรมพุทธศาสน์กล่าวถึงสิ่งที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ในเวลาต่างๆ
กาลิก หมายถึง เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
  1. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่าง ๆ 
  2. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวัน ใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
  3. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้งห้า
  4. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น
ป.ล.ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม